Salisbury, Robert Arthur Talbot Gascoyne-Cecil, 3ʳᵈ Marquis of (1830-1903)

รอเบิร์ต อาเทอร์ ทัลบอต แกสคอยน์-เซชิต มาร์ควิสที่ 3 แห่งซอลส์บิวรี (พ.ศ. ๒๓๗๒-๒๔๔๖)

 รอเบิร์ต อาเทอร์ ทัลบอต แกสคอยน์-เซซิล มาร์ควิสที่ ๓ แห่งซอลส์บิวรี เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษจากพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* ซึ่งดำรงตำแหน่งถึง ๓ สมัย ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๘๕-๑๘๘๖ ค.ศ. ๑๘๘๖-๑๘๙๒ และ ค.ศ. ๑๘๙๕-๑๙๐๒ ซึงเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ สู่คริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ความสนใจในด้านการต่างประเทศทำให้เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปด้วยซึ่งได้เป็นทั้งหมด ๔ วาระ โดยเริ่มตั้งแต่ใน ค.ศ. ๑๘๗๘ สมัยรัฐบาลของเบนจามิน ดิสเรลี (Benjamin Disraeli)* แนวนโยบายของเขาที่ไม่ประสงค์ให้อังกฤษต้องเข้าไปผูกพ้นกับประเทศอื่นทำให้ผู้คนเรียกขานกันภายหลังว่าเป็นการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่รู้จักกันว่า นโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยว (Splendid Isolation)* ในช่วงนี้จักรวรรดิอังกฤษกว้างใหญ่ไพศาลมากและมีแสนยานุภาพทางทะเล แม้เขาจะมีบทบาทสำคัญในการขยายอิทธิพลของอังกฤษในทวิปแอฟริกาซึ่งทำให้อังกฤษขัดแย้งกับชาติตะวันตกอื่นโดยเฉพาะกับฝรั่งเศส และปะทะกับผู้คนในท้องถิ่น แต่ซอลส์บิวรีก็ไม่ได้ชื่อว่าเป็นนักจักรวรรดินิยมผู้กระหายดินแดน การดำเนินนโยบายต่างประเทศของเขาเป็นไปเพี่อรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของอังกฤษไว้ซึ่งก็เป็นเหตุผลเดียวกับที่ทำให้เขาคัดค้านการให้ไอร์แลนด์ได้สิทธิปกครองตนเอง (Irish Home Rule) ส่วนนโยบายการปกครองภายในประเทศนั้น ซอลส์บิวรีไม่ชื่นชมกับระบอบประชาธิปไตยนัก เขาไม่เห็นด้วยกับการให้สิทธิทางการเมืองแก่ชนชั้นแรงงานมากขึ้นซึ่งเป็นแนวคิดปรกติของผู้มีภูมิหลังสูงศักดิ์ เขาจงต่อต้านกฎหมายปฏิรูประบบการเลือกตั้งซอลส์บิวรีเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนแรกของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ แต่เป็นคนสุดท้ายที่บริหารประเทศโดย เป็นสมาชิกสภาจุนนาง (House of Lords)

 รอเบิร์ต อาเทอร์ ทัลบอต แกสคอยน์-เซซิลเกิด เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๓๐ ที่คฤหาสน์แฮตฟีลด์ (Hatfield) ในมณฑลฮาร์ตฟอร์ดเชียร์ (Hertfordshire) เป็นบุตรชายคนที่ ๓ ในจำนวนบุตรธิดา ๖ คน ของเจมส์ บราวน์โลว์ วิลเลียม แกสคอยน์-เซซิล (James Brownlow William Gascoyne-Cecil) มาร์ควิสที่ ๒ แห่งซอลส์บิวรี นักการเมืองสังกัดพรรคอนุรักษนิยมซึ่งสืบเชื้อสายสายตรงจากวิลเลียม เซซิล บารอนเบิร์กลีย์ที่ ๑ (William Cecil, 1ˢᵗ Baron Burgh ley) เสนาบดีคนสำคัญที่สุดในรัชสมัยสมเด็จพระราชินินาถเอลิซาเบทที่ ๑ (Elizabeth I ค.ศ. ๑๕๕๘-๑๖๐๓) และเลดีฟรานเซส แมรี แกสคอยน์ (Frances Mary Gascoyne) ชีวิตในวัยเด็กของเขาไม่ค่อยมีความสุขและค่อนข้างว้าเหว่ ขาดความอบอุ่นจากทั้งบิดาและมารดา มารดาซึ่งชอบงานสังคมเสียชีวิตเมื่อเขามีอายุเพียง ๑๐ ขวบ ซอลส์บิวรีเป็นเด็กขี้อายและเก็บตัวเขาเริ่มเรียนหนังสือกับครูที่ว่าจ้างให้มาสอนที่บ้านและระหว่าง ค.ศ. ๑๘๔๐-๑๘๔๕ ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนอีตัน (Eton) แต่ไม่เรียนจนจบแม้จะทำคะแนนได้ดีในวิชาภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน คลาสสิก และเทววิทยา เพราะไม่อาจทนการถูกกลั่นแกล้งรังแกจากเพื่อนนักเรียนในโรงเรียนจึงกลับมาเรียนกับครูที่บ้านอีก ใน ค.ศ. ๑๘๔๗ ซอลส์บิวรีเข้าเรียนที่วิทยาลัยไครส์เชิร์ช (Christ Church) มหาวิทยาลัยออกชฟอร์ด แต่สุขภาพไม่ดี หมอจึงแนะนำให้เขาเดินทางไปพักผ่อนยังต่างประเทศ ซอลส์บิวรีใช้ชีวิตในแอฟริกาใต้ออสเตรเลีย ทัสเมเนีย และนิวซีแลนด์ เป็นเวลาเกือบ ๒ ปี ซึ่งทำให้สุขภาพดีขึ้นและมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นแต่ก็ยังลังเลว่าจะเลือกอนาคตไปในทิศทางใดเพราะเห็นว่าทั้งการเมืองและการศาสนาน่าสนใจทั้งคู่

 ซอลส์บิวรีจบการศึกษาระดับปริญญาโทใน ค.ศ. ๑๘๕๓ ในปีเดียวกันนั้นเขาก็ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสามัญจากเขตสแตมฟอร์ด (Stamford) มณฑลลิงคอล์นเชียร์ (Lincolnshire) โดยไม่มีผู้ลงสมัครแข่งขันด้วย อีก ๔ ปีต่อมา เขาสมรสกับจอร์เจียนา อัลเดอร์สัน (Georgiana Alderson) บุตรสาวของเซอร์เอดเวิร์ด อัลเดอร์สัน (Edward Alderson) ผู้พิพากษา แม้บิดาจะคัดค้านเพราะเห็นว่าชาติตระกูลของเธอทั้งไม่สูงส่งและไม่รํ่ารวย แต่ซอลส์บิวรีก็ยังคงยืนยันความตั้งใจที่จะสมรสกับเธอ แม้ว่าบิดาจะไม่เพิ่มเงินค่าใช้จ่ายให้ก็ตาม ทั้งคู่มีชีวิตสมรสที่มีความสุข มีบุตรชาย ๕ คนและบุตรสาว ๓ คน ซอลส์บิวรีหันสู่อาชีพนักเขียนเพื่อหาเงินจุนเจือครอบครัวในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๕๖ เขาเริ่มเขียนบทความลงใน Saturday Review โดยใช้นามแฝงและเขียนต่อเนื่องไปเป็นเวลาถึง ๙ ปี รวมทั้งยังเขียนลงใน Quarterly Review ซึ่งเป็นวารสารรายปักษ์ของพรรคทอรี (Tory) และใน Standard หนังสือพิมพ์รายวันของพรรคด้วย (รวมทั้งหมดเขาเขียนกว่า ๖๐๐ บทความใน Saturday Review และ ๓๐ กว่าบทความใน Quarterly Review นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่ถ่ายทอดความคิดเป็นตัวอักษรให้คนรุ่นหลังได้ศึกษามากกว่านายกรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ) ฐานะทางการเงินของซอลส์บิวรีดีขึ้นเมื่อเขากลายเป็นทายาทชายเพียงคนเดียวของตระกูล กล่าวคือ พี่ชายคนที่ ๒ ได้เสียชีวิตไปนานแล้วเมื่ออายุได้เพียง ๒ ขวบ ส่วนพี่ชายคนโตซึ่งสุขภาพอ่อนแอมาตลอดได้มาเสียชีวิตลงใน ค.ศ. ๑๘๖๕ ทำให้ซอลส์บิวรีได้เป็นไวส์เคานต์แครนบอร์น (Viscount Cranborne) แทน ต่อมาเมื่อบิดาเสียชีวิตใน ค.ศ. ๑๘๖๘ เขาจึงได้มรดกทรัพย์สิน ที่ดินของตระกูลแต่ผู้เดียว และสืบทอดบรรดาศักดิ์เป็นมาร์ควิสที่ ๓ แห่งซอลส์บิวรี และทำให้ได้ที่นั่งในสมาชิกสภาขุนนาง ในปีต่อมาเขาก็ได้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดด้วย

 ระหว่างเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๖๖ ถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๖๗ ซอลส์บิวรีได้เป็นรัฐมนตรีดูแลกิจการอินเดีย แต่ไม่นานก็ลาออกจากตำแหน่งเพราะไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมเสนอร่างกฎหมายปฏิรูประบบการเลือกตั้งเข้าสภา เขาคัดค้านเอดเวิร์ด จอร์จ สแตนลีย์ เอิร์ลแห่งดาร์บีที่ ๑๔ (Edward George Stanley, 14ᵗʰ Earl of Derby) นายกรัฐมนตรีและเบนจามิน ดิสเรลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่จะขยายสิทธิเลือกตั้งให้ครอบคลุมถึงผู้ใช้แรงงาน ซอลส์บิวรีกล่าวว่าเขาไม่อาจสนับสนุนรัฐบาลในเรื่องนี้เพราะเมื่อปีที่ผ่านมาเขายังร่วมมือกับดิสเรลีคัดค้านร่างกฎหมายเช่นนี้ของพรรคเสรีนิยม (Liberal Party)* ซึ่งยังไม่ขยายจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากเท่าที่พรรคอนุรักษนิยมเสนอด้วยซํ้า ดังนั้น เขาไม่อาจเผชิญหน้ากับวิลเลียม อีวาร์ต แกลดสโตน (William Ewart Gladstone)* หัวหน้าพรรคเสรีนิยมได้ เมื่อลาออกแล้วเขากลับไปสนใจทำงานในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ที่เขาสร้างขึ้นที่บ้าน นอกจากนั้น ยังเขียนบทความลงใน Quarterly Review เรื่อง “The Conservative Surrender” เพื่อโจมตีพรรคอนุรักษนิยมที่จำนนต่อกระแสการปฏิรูประบบการเลือกตั้งว่าเป็นการทรยศต่อผู้ที่ลงคะแนนเสียงให้เป็นสมาชิกสภาสามัญ ในปีต่อมา เขาอภิปรายคัดค้านข้อเสนอของแกลดสโตนที่จะให้ยกเลิกนิกายไอร์แลนด์ (Church of Ireland) ซึ่งเป็นนิกายทางการของไอร์แลนด์อีก นับเป็นการอภิปรายในฐานะสมาชิกสภาสามัญครั้งสุดท้าย เพราะในเดือนต่อมา เมื่อบิดาของซอลส์บิวรีถึงแก่อนิจกรรม เขาก็ได้ที่นั่งในสภาขุนนางสืบต่อจากบิดา

 ใน ค.ศ. ๑๘๗๔ ซอลส์บิวรีได้รับการชักชวนให้ร่วมรัฐบาลของดิสเรลีที่ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากลอร์ดดาร์บีและรับตำแหน่งรัฐมนตรีดูแลกิจการอินเดียอีกครั้งหนึ่ง ในช่วง ๗ ปีที่ทั้งสองร่วมงานกันใหม่ครั้งนี้ ซอลส์บิวรีเปลี่ยนทัศนะที่มีอคติต่อดิสเรลีมาเป็นชื่นชมรักใคร่ ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๗๘ ซอลส์บิวรีเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสืบต่อจากเอดเวิร์ด เฮนรี สแตนลีย์ เอิร์ลแห่งดาร์บีที่ ๑๕ (Edward Henry Stanley, 15ᵗʰ Earl of Derby) ซึ่งเป็นช่วงที่ปัญหาตะวันออก (Eastern Question)* ในคาบสมุทรบอลข่านซึ่งเป็นดินแดนที่ข้อพิพาทเรื่องศาสนาและเชื้อชาติกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติสงครามระหว่างอังกฤษกับรัสเซียอาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากการแย่งชิงกันควบคุมนครคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) ซอลส์บิวรีมีโอกาสได้แสดงชั้นเชิงทางการทูตด้วยการส่งหนังสือเวียน (Salisbury Circular) ถึงชาติมหาอำนาจ ๕ ชาติ ได้แก่ เยอรมนี รัสเซีย ออสเตรีย-ฮังการี (Austria-Hungary)* ฝรั่งเศส และจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* หรือตุรกีเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ค.ศ. ๑๘๗๘ ระบุว่าข้อพิพาทระหว่างรัสเซียกับตุรกีซึ่งรุนแรงจนกระทั่งกระทำสงครามต่อกันตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๗๗ นั้นจะสามารถตกลงกันได้ในที่ประชุมนานาชาติ ใน ค.ศ. ๑๘๗๘ จึงมีการจัดการประชุมใหญ่แห่งเบอร์ลิน (Congress of Berlin)* ขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายน-เดือนกรกฎาคม โดยมีออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* อัครมหาเสนาบดีเยอรมันเป็นประธาน ซอลส์บิวรีเรียกร้องว่าสนธิสัญญาซานสตีฟาโน (Treaty of San Stefano)* ที่รัสเซียบังคับให้ตุรกีลงนามหลังสงครามเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๗๘ ต้องนำมาให้ชาติยุโรปพิจารณากันใหม่ สนธิสัญญานี่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในคาบสมุทรบอลข่านอย่างใหญ่หลวง เพราะตุรกีต้องยอมรับเอกราชของเซอร์เบีย มอนเตเนโกร และโรมาเนีย รัสเซียได้ครอบครองดินแดนบางส่วนของจักรวรรดิแต่ส่วนที่มหาอำนาจยุโรปข้องใจมากคือการให้สิทธิปกครองตนเองแก่บัลแกเรียซึ่งรวมมาซีโดเนียและมีทางออกสู่ทะเลอีเจียน (Aegean) แม้จะคงอยู่กับตุรกีแต่ก็เข้าใจได้ว่าบัลแกเรียเป็นรัฐบริวารของรัสเซียซึ่งอังกฤษและออสเตรีย-ฮังการีไม่อาจยินยอมได้ ดังนั้น ในที่ประชุมใหญ่แห่งเบอร์ลินซอลส์บิวรีและดิสเรสืจึงพยายามขัดขวางการขยายอำนาจและอิทธิพลของรัสเซีย โดยใช้ตุรกีเป็นปราการขวางระหว่างรัสเซียกับผลประโยชน์ของอังกฤษในเขตเมดิเตอร์เรเนียนมติของที่ประชุมได้ทำลายความหวังในดินแดนบอลข่านของรัสเซียลง ขณะเดียวกันอังกฤษก็ได้ครอบครองเกาะไซปรัสเพื่อเป็นฐานที่มั่นสำคัญทางยุทธศาสตร์ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ความสำเร็จในการดำเนินนโยบายครั้งนี้ทำให้ทั้งดิสเรลีและซอลส์บิวรีได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ (Order of the Garter) ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดของอังกฤษ

 หลังอสัญกรรมของดิสเรลีใน ค.ศ. ๑๘๘๑ ซอลส์บิวรี เป็นผู้นำพรรคทอรีซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในสภาขุนนาง และเซอร์สแตฟฟอร์ด นอร์ทโคต (Stafford Northcote) เป็นผู้นำพรรคในสภาสามัญ ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๘๓ ซอลส์บิวรีพิมพ์บทความลงใน Quarterly Review โดยไม่ระบุนามแต่คนทั่วไปก็เข้าใจว่าเป็นใคร บทความนี่กล่าวถึงอันตรายของความคิดก้าวหน้ารุนแรง ซึ่งเขาต้องการสื่อถึงบ้านเมืองที่กำลังพิจารณาร่างกฎหมายปฏิรูประบบการเลือกตั้งครั้งที่ ๓ ซึ่งเขาไม่เห็นด้วย เมื่อแกลดสโตนหัวหน้าพรรคเสรีนิยมพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะพ่ายแพ้เสียงเมื่อเสนอร่างกฎหมายงบประมาณ ซอลส์บิวรีได้รับเลือกจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Victoria ค.ศ. ๑๘๓๗-๑๙๐๑)* ซึ่งทรงหวั่นเกรงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างรวดเร็วเกินไปให้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล เขาจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกแต่ก็เป็นเพียงช่วงสั้น ๆ ระหว่างเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๘๕ ถึงเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๘๖ เท่านั้น แต่เป็นช่วงเวลาที่ปัญหาไอร์แลนด์และดินแดนในจักรวรรดิเป็นประเด็นสำคัญ ในเรื่องไอร์แลนด์นั้น ซอลส์บิวรีคัดค้านแนวคิดให้ไอร์แลนด์ได้สิทธิปกครองตนเองของแกลดสโตน ซึ่งแกลดสโตนเองก็ต้องเผชิญกับเสียงคัดค้านจากสมาชิกพรรคเสรีนิยมที่ไม่เห็นด้วยและแยกตัวออกหันมาร่วมมือกับซอลส์บิวรีหรือพรรคอนุรักษนิยมในการดำเนินงานการเมือง กลุ่มนี้ซึ่งเรียกว่าลิเบอรัล ยูเนียนนิสต์ (Liberal Unionist) มีโจเซฟ เชมเบอร์เลน (Joseph Chamberlain)* เป็นผู้นำ นอกจากเรื่องไอร์แลนด์แล้ว รัฐบาลของซอลส์บิวรีได้ผนวกพม่าเป็นพรมแดนตะวันออกสุดของชมพูทวีปที่ติดกับเขตอิทธิพลของฝรั่งเศส ส่วนด้านในประเทศ ซอลส์บิวรีเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยของแรงงานด้วยการลงโทษเจ้าของผู้ให้เช่าที่พักที่ขาดสุขอนามัย

 เมื่อซอลส์บิวรีได้กลับมาจัดตั้งรัฐบาลครั้งที่ ๒ ซึ่งกินเวลาถึง ๖ ปี อันเนื่องมาจากการแตกแยกภายในในหมู่สมาชิกพรรคเสรีนิยมเรื่องปัญหาไอร์แลนด์ ซอลส์บิวรีได้เข้ามาจัดการบรรเทาปัญหาความไม่พอใจของชาวไอริชที่ไม่ได้สิทธิปกครองตนเองด้วยการออกกฎหมายหลายฉบับที่อนุญาตให้ชาวนาผู้เช่าที่ดินชาวไอริชมีสิทธิซื้อที่ดินและมีชื่อครอบครองได้ แต่เขาไม่ยอมอ่อนข้อให้กับเรื่องสิทธิปกครองตนเอง นอกจากนั้น ในสมัยนี้มีเหตุการณ์หรือผลงานที่สำคัญอื่น ๆ เช่น ใน ค.ศ. ๑๘๘๗ ซอลส์บิวรีได้จัดประชุมอาณานิคม (Colonial Conference) ครั้งแรกซึ่งมีผู้แทนจากอาณานิคมต่าง ๆ ของอังกฤษมาประชุมที่กรุงลอนดอนในปีต่อมาได้ให้ประทานบัตร (royal charter) แก่บริษัทแอฟริกาตะวันออกของอังกฤษ (British East Africa Company) โดยให้มีสิทธิถือครองดินแดนแม่นํ้าไนล์ตอนบน ใน ค.ศ. ๑๘๘๘ รัฐบาลผ่านพระราชบัญญัติการปกครองส่วนท้องถิ่น (Local Government Act) ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งสภามณฑล (County Council) ทำหน้าที่รับผิดชอบการบริหารส่วนท้องถิ่นกฎหมายนี่นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพราะอำนาจการบริหารและตุลาการในท้องถิ่นที่เคยอยู่ในความรับผิดชอบของผู้พิพากษาศาลแขวง (Justice of the Peace) ที่ส่วนกลางแต่งตั้งและถือปฏิบัติมาหลายศตวรรษจะตกอยู่กับคณะผู้บริหารที่ประชาชนในท้องถิ่นเลือกตั้ง ซึ่งสตรีโสดก็ได้รับสิทธิให้ออกเสียงได้ กฎหมายนี้สำคัญสำหรับกรุงลอนดอนซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นเขตมณฑลเฉพาะ ใน ค.ศ. ๑๘๘๘ สภาลอนดอนครอบคลุมประชากรถึง ๓ ล้านคน

 การมีอาณานิคมโพ้นทะเลทำให้อังกฤษอาจต้องพิพาทกับมหาอำนาจยุโรปอื่น ดังนั้น ใน ค.ศ. ๑๘๘๙ รัฐบาลซอลส์บิวรีจีงผ่านพระราชบัญญัติป้องกันทางทะเล (Naval Defence Act) เพื่อเพิ่มงบประมาณ ๒๐ ล้านปอนด์ เสริมสร้างประสิทธิภาพให้แก่กองทัพเรือในช่วง ๔ ปีข้างหน้านับว่าเป็นการเพิ่มพูนกำลังครั้งมโหฬารที่สุดในยามสันติประกอบด้วย การสร้างเรือรบเพิ่ม ๑๐ ลำ เรือลาดตระเวน ๓๘ ลำ เรือตอร์ปิโด ๑๘ ลำ และเรือปืนแล่นเร็วอีก ๔ ลำ นับตั้งแต่ยุทธการที่ทราฟัลการ์ (Battle of Trafalgar)* แสนยานุภาพของทัพเรืออังกฤษนั้นเดิมจะเหนือกว่า คู่สงครามอยู่ ๑ ใน ๓ แต่บัดนี้อังกฤษกำหนดว่าจะต้องมีกำลังเท่ากับทัพเรือของ ๒ ชาติมหาอำนาจฝรั่งเศสกับรัสเซียรวมกัน ขณะที่มีการเตรียมพร้อมอังกฤษก็พยายามแก้ไขข้อพิพาท ดังเช่น ใน ค.ศ. ๑๘๙๐ มีการทำความตกลงระหว่างอังกฤษกับเยอรมนีเพื่อแก้ไขข้อพิพาทในแอฟริกาตะวันออก โดยเยอรมนีรับรองแซนซิบาร์ (Zanzibar) และยูกันดา (Uganda) ว่าเป็นดินแดนในอารักขาของอังกฤษเพื่อแลกกับการที่อังกฤษยกเกาะเฮลโกแลนด์ (Helgoland) ในทะเลเหนือให้แก่เยอรมนี ผลงานชิ้นสำคัญสุดท้ายของรัฐบาลช่วงที่ ๒ คือ ออกพระราชบัญญัติการศึกษาแบบให้เปล่า (Free Education Act) ค.ศ. ๑๘๙๑ ได้สำเร็จ

 ในช่วงรัฐบาลที่ ๓ ของซอลส์บิวรี (ค.ศ. ๑๘๙๕-๑๙๐๒) ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างศตวรรษด้วยนั้นถือเป็นช่วงที่มีเหตุการณ์สำคัญ ๆ เป็นช่วงที่มีปัญหาเรื่องการแบ่งดินแดนในทวีปแอฟริกา ซอลส์บิวรีเชื่อว่าการปกครองของอังกฤษเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับเผ่าพันธุ์ที่ล้าหลังและไม่ลังเลที่จะใช้การบังคับโดยกำลัง นโยบายต่างประเทศของเขาเป็นไปทั้งเพื่อพิทักษ์และขยายจักรวรรดิอังกฤษ เขาสนับสนุนการบุกเบิกเข้าไปในแอฟริกาของนักสำรวจ บริษัทการค้า มิชชันนารี และปล่อยให้การบริหารดินแดนอยู่ในความดูแลของคนเหล่านั้นแต่เมื่อใดที่การบริหารของกลุ่มบุคคลดังกล่าวถูกชาติยุโรปอื่นคุกคามโดยเฉพาะจากฝรั่งเศส เยอรมนี และโปรตุเกส รัฐบาลอังกฤษจะให้การสนับสนุนอย่างเป็นทางการจนในที่สุดดินแดนกว้างใหญ่ทางตะวันตก ตะวันออก และตอนกลางของแอฟริกาตกอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ วิกฤตการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงนี้คือเหตุการณ์ฟาโชดา (Fashoda Incident)* ซึ่งเป็นการช่วงชิงดินแดนลุ่มแม่นํ้าไนล์ตอนบนระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสจนเกือบจะทำสงครามกันใน ค.ศ. ๑๘๙๘ และในปีต่อมา ซอลส์บิวรีสนับสนุนให้บริษัทแอฟริกาใต้ของอังกฤษ (British South Africa Company) ที่บริหารโดยเซซิล โรดส์ (Cecil Rhodes)* ยึดดินแดนที่ต่อมาเรียกว่า โรดีเซีย (Rhodesia) และมีเมืองหลวงชื่อว่า ซอลส์บิวรี เป็นอาณานิคม [ปัจจุบันคือ ซิมบับเว (Zimbabwe) และฮาราเร (Harare) ตามลำดับ]

 ส่วนปัญหากับประเทศอื่นนั้น ใน ค.ศ. ๑๘๙๕ สหรัฐอเมริกาประกาศว่าจะใช้หลักการมอนโร (Monroe Doctrine) แก้ปัญหาข้อพิพาทพรมแดนระหว่างเวเนซุเอลากับบริติชกิอานา (British Guiana) ซึ่งปลุกเร้าความรู้สึกรุนแรงทั้งในสหรัฐอเมริกาและในอังกฤษ ซอลส์บิวรีเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมาธิการกลางขึ้นทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการซึ่งในตอนแรกประธานาธิบดีโกรเวอร์ คลีฟแลนด์ (Grover Cleveland) ของสหรัฐอเมริกาปฏิเสธ แต่ในที่สุดมีการแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการอังกฤษ-อเมริกันขึ้นซึ่งได้เดินทางไปสำรวจบริเวณดินแดนที่พิพาทกัน และคำตัดสินก็เป็นที่ยอมรับของทั้ง ๒ ฝ่ายใน ค.ศ. ๑๘๙๙ ในปีนั้นรัฐบาลของซอลส์บิวรีก็ได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับโปรตุเกสโดยทำความตกลงกับเยอรมนีว่าโปรตุเกสจะมอบคืนอาณานิคมให้แก่เยอรมนีและอังกฤษหากไม่สามารถชำระเงินที่กู้ไปจากทั้ง ๒ ประเทศได้ นอกจากนี้ ซอลส์บิวรียังสามารถแก้วิฤตการณ์ในตะวันออกไกลเมื่อรัสเซียเข้ายึดเมืองท่าของจีน ๒ เมืองในฤดูหนาวระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๗-๑๘๙๘ ได้สำเร็จ

 อย่างไรก็ดี เหตุการณ์สำคัญในช่วงปลายสมัยรัฐบาลที่ ๓ ของซอลส์บิวรีก็เกิดขึ้นในดินแดนแอฟริกาอีกกล่าวคือ ใน ค.ศ. ๑๘๙๙ เกิดข้อพิพาทรุนแรงขึ้นในดินแดนแอฟริกาใต้ระหว่างอังกฤษกับสาธารณรัฐทรานสวาล (Transvaal) และเสรีรัฐโอเรนจ์ (Orange Free state) ของพวกบัวร์ (Boer) เนื่องมาจากสถานะของออยต์ลันเดอร์ (Uitlander) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอังกฤษในดินแดนดังกล่าวถูกปฏิเสธสิทธิทางการเมือง ซอลส์บิวรีปล่อยให้โจเซฟ เชมเบอร์เลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคมจัดการเรื่องนี้จนกระทั่งนำไปสู่สงครามบัวร์ (Boer War ค.ศ. ๑๘๙๙-๑๙๐๒)* แม้ซอลส์บิวรีจะผิดหวังแต่ก็ต้องยอมรับการกระทำของเชมเบอร์เลน แต่ใน ค.ศ. ๑๙๐๐ เขาได้แต่งตั้งให้เฮนรี เพตตี-ฟิตซ์โมริตซ์ มาร์ควิสที่ ๕ แห่งแลนส์ดาวน์ (Henry Petty-Fitzmaurice, 5ᵗʰ Marquis of Lansdowne)* เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแทน ส่วนตัวเขาเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงตำแหน่งเดียว

 ในช่วงทศวรรษสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ขณะที่ชาติมหาอำนาจต่าง ๆ รวมตัวเป็นกลุ่มพันธมิตรซอลส์บิวรีก็ยังคงปล่อยให้อังกฤษลอยตัวอยู่ เขาไม่เห็นด้วยกับการนำอังกฤษเข้าไปผูกมัดกับกลุ่มพันธมิตรใด ๆ เพราะเห็นว่าการรวมกลุ่มพันธมิตรสำหรับอังกฤษแล้วนอกจากไม่จำเป็นยังอาจเป็นอันตรายอีกด้วย ดังที่เขาไม่สนับสนุนเชมเบอร์เลนซึ่งพยายามสร้างระบบพันธมิตรระหว่างอังกฤษกับเยอรมนีระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๘-๑๙๐๑ อย่างไรก็ดี มีนักประวัติศาสตร์บางกลุ่มได้ประเมินบทบาทซอลส์บิวรีใหม่ว่า ซอลส์บิวรีไม่ได้นิยมนโยบายโดดเดี่ยวแต่เขาจะกระตือรือร้นถ้าจะทำให้ผลประโยชน์ของอังกฤษเพิ่มพูนขึ้นช่วงปลายรัฐบาลของเขา นโยบายด้านการทูตที่วางไว้มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างดังเห็นได้จากการที่อังกฤษตกลงเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๐๒ แต่ซอลส์บิวรีคัดค้านข้อเสนอของแลนส์ดาวน์ที่จะทำสนธิสัญญาแบบเดียวกันนั้นกับเยอรมนีในเดือนกรกฎาคม ในปลายปีนั้นสุขภาพที่ทรุดโทรมและความอาลัยอาวรณ์ภริยาที่จากไปทำให้ซอลส์บิวรีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้ อาเทอร์ เจมส์ บัลฟอร์ (Arthur James Balfour)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งเป็นหลานชายแท้ ๆ ของเขาและเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกิจการไอร์แลนด์ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน เชื่อกันว่าวลีภาษาอังกฤษ “Bob’s your uncle” มีที่มาจากการแต่งตั้งหลานชายของซอลส์บิวรีนั่นเอง

 รอเบิร์ต อาเทอร์ ทัลบอต กาสคอยน์-เซซิล มาร์ควิสที่ ๓ แห่งซอลส์บิวรีถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๐๓ ขณะอายุ ๗๒ ปี รูปแกะสลักในท่านอนของเขาได้รับเกียรติให้ประดิษฐานอยู่ที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ แม้ว่าศพของเขาคงฝังอยู่ที่โบสถ์แฮตฟิลด์บ้านเกิดตามความประสงค์ของครอบครัวปัจจุบันมีการพิมพ์ Salisbury Review วารสารวิชาการราย ๓ เดือนที่ตั้งตามชื่อเขาโดยจัดทำขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๘๒ นอกเหนือจากมีการจัดตั้ง กลุ่มซอลส์บิวรี (Salisbury Group) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๗๗ ซึ่งออกจุลสารเผยแพร่และสนับสนุนนโยบายอนุรักษนิยม.



คำตั้ง
Salisbury, Robert Arthur Talbot Gascoyne-Cecil, 3ʳᵈ Marquis of
คำเทียบ
รอเบิร์ต อาเทอร์ ทัลบอต แกสคอยน์-เซชิต มาร์ควิสที่ 3 แห่งซอลส์บิวรี
คำสำคัญ
- กลุ่มซอลส์บิวรี
- การประชุมใหญ่แห่งเบอร์ลิน
- แกลดสโตน, วิลเลียม อีวาร์ต
- แกสคอยน์-เซซิล, เจมส์ บราวน์โลว์ วิลเลียม
- เชมเบอร์เลน, โจเซฟ
- ดิสเรลี, เบนจามิน
- นอร์ทโคต, เซอร์สแตฟฟอร์ด
- นิกายไอร์แลนด์
- บัลแกเรีย
- บัลฟอร์, อาเทอร์ เจมส์
- บิสมาร์ค, ออทโท ฟอน
- ปัญหาตะวันออก
- พรรคทอรี
- พรรคเสรีนิยม
- พรรคอนุรักษนิยม
- พระราชบัญญัติการศึกษาแบบให้เปล่า
- ยุทธการที่ทราฟัลการ์
- โรดีเซีย
- โรมาเนีย
- สงครามบัวร์
- สนธิสัญญาซานสตีฟาโน
- สภาขุนนาง
- สภามณฑล
- สภาสามัญ
- สิทธิปกครองตนเอง
- หลักการมอนโร
- เหตุการณ์ฟาโชดา
- ออสเตรีย-ฮังการี
- อัลเดอร์สัน, เซอร์เอดเวิร์ด
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1830-1903
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๗๒-๒๔๔๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-